วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
ปฏิวัติตนเองสู่เส้นชัยชีวิต
เด็กๆ คะ ครูอ่านบทความเรื่อง ปฏิวัติตนเองสู่เส้นชัยชีวิต เขียนโดย ศ. ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ แล้วนึกถึงเด็กๆ ทุกคน ลองอ่านดู แล้วคิดพิจารณาว่า จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากบทความนี้ไปพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง
นโปเลียน ฮิลล์ ได้กล่าวถึงคุณสมบัติส่วนตัวของนักเดินตลาดที่ประสบความสำเร็จ ข้อหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมตนเอง เขากล่าวว่า “นักเดินตลาดชั้นยอดจะควบคุมความคิดและหัวใจของตนทั้งหมดตลอดเวลา เขารู้ว่าถ้าหากเขาไม่สามารถควบคุมตนเอง เขาย่อมควบคุมบุคคลที่มุ่งหวังให้ซื้อสินค้าไม่ได้”
คนที่ปรารถนาความสำเร็จแห่งชีวิตจำเป็นต้องฝึกการบังคับตนเอง เพราะหากเราไม่สามารถบังคับตนเองได้ในเรื่องที่อาจดูเหมือนเล็กน้อย เราก็อาจล้มเหลวในขั้นตอนหนึ่งของชีวิตได้ โดยการฝึกฝนการบังคับตนเองนั้นมีหลักการสำคัญคือ สายตาต้องจับจ้องเป้าหมาย เราควรตั้งเป้าหมายการทำงาน การใช้ชีวิตที่ชัดเจนและเป็นเป้าหมายระยะยาวที่เราปรารถนาจะไปให้ถึง จะทำให้สำเร็จ เป้าหมายที่พึงประสงค์นี้จะเป็นพลังช่วยให้เรามองข้ามอุปสรรค ความผิดพลาดล้มเหลว ความไม่พอใจกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้ ดังคำกล่าวของ ชาร์ลส โนเบล ได้กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “คุณจะต้องมีเป้าหมายระยะยาว เพื่อยึดคุณไว้ไม่ให้จมอยู่กับความผิดหวังในความล้มเหลวที่เกิดขึ้นระหว่างทาง”
อย่าให้อารมณ์นำหน้าเหตุผล หากเราต้องการประสบความสำเร็จ เราจำเป็นต้องเป็นผู้ที่บรรลุภาวะทางอารมณ์ ต้องไม่อนุญาตให้อารมณ์มีอำนาจอยู่เหนือเหตุผล เมื่อเริ่มมีอารมณ์โกรธจากเหตุการณ์ใดก็ตาม เราควรตั้งสติให้มั่นคง เริ่มคิดว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และควรตอบสนองอย่างไร เพื่อผลสุดท้ายจะเป็นผลดีแก่ทั้งสองฝ่ายมากที่สุด จากนั้นเราค่อยแสดงออกมาจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายให้กลับกลายเป็นดีได้
เลือกที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมเสมอ ในการตัดสินใจทำสิ่งใด เราจำเป็นต้องเลือกในทางที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวที่ตั้งใจไว้ โดยระมัดระวังมิให้ความต้องการในผลประโยชน์ระยะสั้น อารมณ์ความรู้สึก หรือปัจจัยอื่น ๆ มาเป็นเงื่อนไขให้เราตัดสินใจผิดพลาด และเป็นเหตุให้ต้องกลับมานั่งเสียใจในอนาคต ดังนั้นในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ จึงต้องคิดอย่างรอบคอบและมั่นใจในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
ฝึกวินัยเปลี่ยนแปลงอุปนิสัย นิสัยเกิดขึ้นจากการที่เราทำสิ่งใดซ้ำ ๆ ในรูปแบบเดิม ๆ จนกลายเป็นความเคยชิน นิสัยเหล่านี้ได้กำหนด “ความเป็นตัวเรา” ในการทำสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่วิธีคิด ค่านิยม วิถีการดำเนินชีวิต รูปแบบพฤติกรรม รวมถึงลักษณะการทำงานของเราด้วย นิสัยที่แตกต่างกันก็ทำให้คนทำงานแตกต่างกันไป เช่น คนที่มีนิสัยรอบคอบ ในการทำงานจะตรวจตราอย่างละเอียด ความผิดพลาดจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น คนที่มีนิสัยชอบความสบาย ๆ มักจะไม่ชอบทำงานหนักหรือทำงานล่วงเวลา นิสัยขาดความอดทน มักจะไม่สามารถรับแรงกดดันหรือปัญหาที่เข้ามาได้ นิสัยชอบแก้ตัว เมื่อทำผิดจะไม่ยอมรับผิด นิสัยเห็นแก่ตัว ย่อมสร้างความอึดอัดใจแก่เพื่อนร่วมงานได้ เป็นต้น
… นิสัยที่เอื้อต่อการทำงานที่ประสบความสำเร็จ เช่น มีวินัย มีความรับผิดชอบ มุ่งมั่น ขยัน เอาจริงเอาจัง รักการเรียนรู้ รอบคอบ ซื่อสัตย์ ทำงานเป็นทีม รักความดีเลิศ รักษาสัญญา อดทน ชอบคิดสร้างสรรค์และชอบการแก้ปัญหา เป็นต้น
…ส่วนนิสัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เช่น เห็นแก่ตัวไม่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น เกียจคร้าน เย่อหยิ่ง ชอบแก้ตัว ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่รักษาสัญญา ขาดความกระตือรือร้น รักสบาย ไม่รักการเรียนรู้ เป็นต้น
นิสัยต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของเราได้ ดังนั้น เราจึงควรสำรวจตัวเราว่ามีนิสัยอะไรบ้างที่เราควรแก้ไข และมีนิสัยใหม่ ๆ อะไรบ้างที่ดี เรายังไม่มี และควรพัฒนาให้เกิดขึ้นกลายเป็นนิสัยของเรา โดยเริ่มจาก
เริ่มต้นที่ความคิด ความคิดเป็นตัวกำหนดความเป็นเรา ทั้งนิสัย ค่านิยมและพฤติกรรมของเรา ดังนั้น หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงจึงต้องเริ่มต้นที่ความคิดของเราก่อน ที่สำคัญคือ ต้องมีความคิด “ปฏิเสธ” นิสัยไม่ดีของตัวเอง ยอมรับว่านิสัยของเราบางอย่างนั้นไม่ดี เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและต่อความสำเร็จของชีวิตในอนาคต นอกจากปฏิเสธแล้ว เราต้องมี “ความปรารถนา” ที่จะมีนิสัยดี ๆ ให้กลายเป็นนิสัยใหม่ของเรา
ตามด้วยความตั้งใจ หากเราต้องการพัฒนานิสัยที่ดี ๆ ให้เกิดขึ้น นั่นหมายความว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง แก้ไขนิสัยเดิม ๆ ซึ่งเราคงต้องยอมรับว่า นิสัยนั้นเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติจนเป็นความเคยชิน การสร้างนิสัยใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หากเรามีเพียงความปรารถนา แต่ต้องอาศัยความตั้งใจ ความเอาจริงเอาจัง และร่วมมือกับตัวเอง ด้วยการตั้งเป้าเปลี่ยนแปลงนิสัยเดิมอย่างเอาจริงเอาจัง
สร้างวินัยให้ตัวเอง การวิจัยทางการแพทย์พบว่า คนเราจะสามารถมีนิสัยใหม่ได้ ถ้าทำสิ่งใดซ้ำ ๆ กันต่อเนื่องได้ 45 วัน จะกลายเป็นนิสัยใหม่ได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องฝึกนิสัยใหม่ โดยทำเป็นประจำ จนเกิดความเคยชิน เช่น หากเราต้องการเป็นคนที่รักความดีเลิศ เราต้องเปลี่ยนแปลงนิสัยสะเพร่าเลินเล่อของเรา โดยการตรวจงานทุก ๆ ชิ้นอย่างละเอียดเมื่อทำเสร็จ โดยทำเช่นนี้ทุก ๆ วันกับงานทุก ๆ ชิ้น จนกว่าเราจะเกิดความเคยชินในการทำเช่นนี้จนเป็นนิสัย ต่อไปเราจะเป็นคนที่ทำผิดพลาดน้อยลง เป็นต้น
สุดท้ายต้องพยายามอย่างไม่ลดละ เช่นเดียวกับคนที่ต้องการลดความอ้วน ต้องเปลี่ยนนิสัยการรับประทาน ให้รับประทานเป็นเวลา เปลี่ยนจากความชอบในอาหารพวกแป้งและน้ำตาล ด้วยการฝึกรับประทานอาหารประเภทผักผลไม้ ซึ่งแรก ๆ ย่อมมีความยากลำบากอยู่บ้าง และหลายคนอาจล้มเหลวหรือล้มเลิกกลางคัน แต่คนที่ประสบความสำเร็จคือ คนที่อดทน พยายามอย่างไม่ลดละ นิสัยอื่น ๆ ก็เช่นกัน เราต้องอดทน พยายามทำต่อไป ไม่ล้มเลิกแม้ล้มเหลวบ้างระหว่างทาง เพราะนานวันเข้าจะกลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นนิสัยใหม่ไปโดยปริยาย
การปฏิวัติตนเองเพื่อไปสู่เส้นชัยนั้นสำคัญสุดคือการมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นจนยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกำลังหากต้องอาศัยความตั้งใจจริงและความเพียรพยายาม โดยรางวัลที่ได้รับนั้นไม่ใช่ที่เส้นชัยเท่านั้น แต่ระหว่างทางที่เดินไปผู้ที่สามารถบังคับตนเองได้จะรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในความสามารถของตนที่สามารถบังคับตนเองไปสู่เส้นทางที่ใกล้เส้นชัยมากขึ้นทุกวันและสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดียิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการเคารพในตนเอง ซึ่งเป็นแหล่งพลังสำคัญที่คอยให้กำลังใจเป็นระยะว่าเส้นชัยนั้นเราไปถึงได้แน่นอน
ที่มา ปฏิวัติตนเองสู่เส้นชัยชีวิต เข้าถึงได้จากhttp://www.oknation.net/blog/kriengsak/2010/02/16/entry-1
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น