วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อ่านอย่างไรให้จำได้


การอ่านให้จำได้อย่างเข้าใจ หรือ จำอย่างมีความหมาย หรือจำอย่างมีความคิดความเข้าใจในเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
1. อ่านส่วนนำของเนื้อหา
การอ่านส่วนนำของเนื้อหา จะทำให้นักเรียนมองเห็นภาพรวมของเนื้อหา ความสัมพันธ์ของเนื้อหา รวมทั้งเป้าหมายของเนื้อหาทีจะเรียน การอ่านทำความเข้าใจและสามารถจำแนวคิดได้ จะช่วยให้จำหัวเรื่องหลัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเนื้อหาทีจะนำไปสูเนื้อหาย่อยของแต่ละหัวข้อ
2. จัดระบบของเนื้อหา
เมื่อถึงส่วนของเนื้อหา ขณะอ่าน พยายามจัดระบบของเนื้อหา เช่น จัดกลุ่ม หรือ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของหัวข้อและเนื้อหา การเปรียบเทียบเนื้อหา เป็นต้น จะทำให้มองเห็นกลุ่มก้อน ความเชื่อมโยง ความเหมือนหรือความแตกต่างของเนื้อหา ซึ่งจะช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น ในทางปฏิบัตินักเรียนควรอ่านเป็นส่วนๆทีละเรื่องโดยอ่าน 2 รอบ รอบแรกเป็นการอ่านคร่าวๆ เพื่อจับประเด็นของเนื้อหาให้ได้ก่อนว่า มีใจความสำคัญอะไร รอบทีสองเป็นการอ่านเพื่อจัดระบบของเนื้อหา
3. เชื่อมโยงความรู้เดิม
ขณะอ่านหากนักเรียนควรเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้หรือประสบการณ์เดิม จะช่วยทำให้จำเนื้อหาความรู้ใหม่ได้ดี เช่น นึกย้อนทบทวนความรู้เดิมที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาคิดวิเคราะห์กับสิ่งใหม่ จะช่วยให้เห็นว่าข้อความใหม่คืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกับความรู้เดิมอย่างไร
4. จดบันทึก
การจดบันทึก เป็นการถ่ายทอดความคิดให้เห็นเป็นรูปธรรม เมื่อนักเรียนได้ทำความเข้าใจในข้อความรู้ หรือ สามารถจัดโครงสร้างหมวดหมูของเนื้อหาแล้ว นักเรียนควรจดบันทึกลงในสมุดจะช่วยให้จำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น นักเรียนสามารถจดบันทึกสาระสำคัญในหน้งสือ ตามความเข้าใจและถ้อยคำภาษาของตนเอง หรืออาจเขียนแผนภูมิโครงสร้างของเนื้อหาตามความเข้าใจของตนเองจะเป็นการช่วยทวนซ้ำและระลึกข้อความรู้ในขณะจดบันทึก ช่วยให้จำได้ดี ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการ "ลอก" เนื้อหาจากหนังสือเพราะจะไม่ช่วยให้จำในขณะอ่านเท่าใดนัก
5. อ่านส่วนสรุป
การอ่านส่วนสรุปจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ หลังจากที่ได้ทำแบบฝึกปฏิบัติแล้ว การอ่านเฉลย หรือแนวคำตอบยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสรุปเนื้อหาและช่วยจำ
6. ทวนซ้ำขณะอ่าน
การทวนซ้ำ เป็นวิธีธรรมชาติของการจำที่คนเราใช้กันมานาน ที่ยังมีผลต่อการจำ อย่างไรก็ตาม การทวนซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับปริมาณของเนื้อหาและจำนวนครั้งของการทวนซ้ำ หากปริมาณเนื้อหาไม่มากนัก จำนวนครั้งของการทวนจะน้อย ประกอบกับหากมีการเชื่อมโยงความรู้หรือจัดหมวดหมู่จะช่วยให้การทวนซ้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
7. ทดสอบตนเอง
การทดสอบตนเองเป็นการฝึกในการระลึกถึงสิ่งที่ได้เคยจดจำไปแล้ว เป็นการฝึกซ้อมกระบวนการในการดึงเอาข้อความรู้ออกมา เปรียบเสมือนกับการที่นักเรียนเก็บข้อมูลไว้ในแฟ้มในตู้ลิ้นชักที่จัดไว้เป็นระบบ เป็นการเก็บจำ การทดสอบโดยการระลึกความจำเป็นการวิ่งกลับไปเปิดลิ้นชักเพื่อค้นหาแฟ้มและเปิดดูข้อมูล หากจัดระบบดี การเรียกข้อมูลก็จะรวดเร็วและถูกต้อง ในการทดสอบตนเอง หากระลึกได้ช้า หรือไม่ถูกต้อง อาจเกิดจากการเก็บจำไม่ดี ข้อความรู้อาจจัดไม่เป็นระบบ หรือจำในปริมาณทีมากเกินไป ซึ่งสามารถกลับไปทบทวนความจำนั้นใหม่ หรือจัดระบบการจำเนื้อหาใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
8. หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวน
การอ่านหนังสือหลายวิชาในเวลาติดๆ กัน หรืออ่านในขณะทีสมองเพิ่งจดจำสิ่งอื่นๆ ในชีวิตประจำวันอาจมีผลในการรบกวนทั้งย้อนระงับและตามระงับ ซึ่งเป็นผลต่อการรบกวนความจำ ดังนั้น นักเรียนอาจพิจารณาเลือกเวลาเรียนที่ปลอดโปร่งจากการรบกวนในความคิด เช่น ช่วงเวลาก่อนนอนหลังจากที่อาบน้ำและพักผ่อนมาพอสมควร หรือช่วงเช้าหลังตื่นนอน ซึ่งเป็นเวลาที่ดีที่สุด โดยอาจอ่านวันละวิชาในตอนค่ำแล้วทบทวนอีกเล็กน้อยในตอนเช้า
อย่างไรก็ตาม นักเรียนไม่ควรลืมว่าการอ่านหนังสือให้เกิดการเรียนรู้และจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร จึงควรตระหนักว่า การอ่านอย่างต่อเนื่องตลอดภาคการศึกษาเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เพราะจะเป็นการช่วยให้กระบวนการเก็บจำดำเนินไปอย่างมีระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีละน้อย ทีละส่วนของเนื้อหา ส่งผลให้เก็บจำได้มาก และยาวนาน และสามารถเรียกความรู้ที่ได้เก็บจำไปแล้วออกมาใช้ หรือตอบคำถามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา บทความแนะแนวการศึกษา มสธ. เข้าถึงได้จาก
http://www.stou.ac.th/Offices/Oes/OesPage/Guide/article/n3.html เมื่อวันที่ 6-04-2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น