วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บิดาแห่งหลักประกันสุขภาพ



นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นนายแพทย์ที่มีผลงานดีเด่นในการบุกเบิกและผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนรัฐไทยรับไปเป็นนโยบายใช้จริง โดยพรรคไทยรักไทยได้นำไปใช้เป็นนโยบายที่เรียกว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 นายแพทย์สงวนเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรกและดำรงตำแหน่ง 2 สมัยติดกัน จนกระทั่งเสียชีวิต กลุ่มแพทย์ชนบทและผู้เคยร่วมงานต่าง ยกย่องนายแพทย์ สงวนว่าเป็น "รัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุขไทย"
นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2495 เป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 6 คนในครอบครัวชาวจีนในกรุงเทพมหานคร ศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหิดล เลือกเรียนแพทย์ เพราะปนๆ กันระหว่างค่านิยมกับความรู้สึกอยากจะทำอะไรที่มีความหมาย วิศวะกับแพทย์ วิศวะเกี่ยวข้องกับเครื่องจักร แพทย์เกี่ยวข้องกับคน คิดไปคิดมาก็เลือกเรียนแพทย์ สัมผัสความรักและความอบอุ่นจากแม่ ด้วยคำสอนที่ให้ข้อคิดว่า ถ้าเราลำบากให้มองคนที่ลำบากกว่าเรา ถ้าเราดีแล้วให้มองคนที่ดีกว่าเรา นายแพทย์สงวน จึงมีความอ่อนน้อม ถ่อมตน คิดถึงความเป็นมนุษย์ ความมีน้ำใจในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สนใจปัญหาสังคม ชอบอ่านหนังสือ ในช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัย ชอบอ่านหนังสือสังคมปริทัศน์ เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน น.ส.พ. มหาราช ทำให้เห็นสภาพสังคมชนบทที่ต่างจากสังคมเมืองอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้ออกค่ายก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้เห็นอะไรหลาย อย่างที่คิดไม่ถึง เช่น ครอบครัวที่ยากจน ทั้งบ้านมีเงินไม่ถึง 20 บาท และอีกหลายๆ กิจกรรมของชีวิตนักศึกษาที่น่าจดจำ
นายแพทย์สงวน ร่วมทำกิจกรรมนักศึกษา ตั้งแต่ปี 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือ มหิดลสาร ของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเรียนจบ ได้ทำงานในกรุงเทพฯ 1 ปี ที่โรงพยาบาลวชิระ หลังจากนั้น เลือกออกไปเป็นแพทย์ชนบท จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอราษีไศล ทำงานอยู่ที่นั่น 5 ปี ได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ความสะดวกสบาย ความสนุกสนาน สิ่งบันเทิงทั้งหลาย เครื่องกินเครื่องใช้ ที่อุดมสมบูรณ์ ต่างกับความขาดแคลน ความอดอยากแห้งแล้ง แต่สิ่งที่ชาวบ้านมี และมอบให้อย่างอบอุ่น คือ ความมีน้ำใจ ชีวิตช่วงนั้นมีความสุขมากที่สุด มีทีมงานที่ดี คือช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 สภาพสังคมตอนนั้น มีความตื่นตัวในสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมสูง นักศึกษาที่จบมาใหม่ๆ มีทั้งพยาบาล เภสัช ทันตแพทย์ และเทคนิคการแพทย์ อยากไปทำงานชนบท แม้จะไม่มี สิ่งอำนวยความสะดวก นายแพทย์สงวนเชื่อเรื่องจิตใจ และคิดว่าแรงจูงใจเรื่องเงิน หรือตำแหน่งชื่อเสียง ไม่แรงเท่าจิตใจภายในที่อยากทำงาน เสียสละ มีอุดมการณ์ และมีความสุขที่ได้ทุ่มเท ถ้าแพทย์มีบทบาท ออกไปสู่ชนบท มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ชาวบ้าน ได้รับบริการดีขึ้น ซึ่งแต่ก่อน บริการทางการแพทย์เหล่านี้ จะกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง ก็เริ่มเปลี่ยนไป ทำให้ บริการต่างๆ เข้าถึงประชาชน กว้างขวางขึ้น
นายแพทย์สงวนเคยบวชครั้งหนึ่ง กับท่านธรรมปิฎก ประทับใจในคำสอนที่ว่า อุเบกขา เป็นธรรมะ ข้อที่ยากที่สุด การวางอุเบกขา ไม่ได้แปลว่า ให้วางเฉยและหยุด ไม่ยุ่ง แต่อุเบกขา แปลว่า ให้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ อย่างต่อเนื่อง แต่วางใจกับมัน คือสำเร็จไม่สำเร็จก็ช่าง ฉันก็จะทำไม่เลิกล้ม แต่ไม่คาดหวังว่า จะต้องสำเร็จอย่างเดียว ถ้าเราคาดหวัง และพยายามผลักดัน โดยคิดว่า ต้องสำเร็จ ก็คงเครียดตาย แต่ถ้าเราสามารถ ที่จะอยู่ในอุเบกขา ระดับหนึ่ง และยังสู้ต่อไป โดยใจเรานิ่ง ก็คงจะสามารถต่อสู้ ในระยะยาว โดยไม่หมดแรง ไปกับความเครียด เสียก่อน
นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวถึงนายแพทย์สงวน ว่า “ประสบการณ์ในชนบททำให้สงวนรู้ว่า ระบบบริการยังไม่ดีพอ และประชาชนขาดหลักประกันสุขภาพ ....อุดมการณ์ มุมมองเชิงระบบ และทักษะในการจัดการ เป็นสิ่งที่แพทย์โดยทั่วไปไม่มี แต่สงวนได้บ่มเพาะคุณสมบัติเหล่านี้ขึ้นในตัวเอง พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าตามวิถีประชาธรรมงานใหญ่ของสงวนคือ การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขไทยให้ประชาชนทั้งหมดมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเขาได้ใช้หลัก "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ในการทำงานใหญ่และยาก กล่าวคือ
(1) ทำวิจัยสร้างความรู้ โดยวิจัยเรื่องการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ (Health Care Reform)
(2) ขับเคลื่อนสังคม
(3) เชื่อมโยงการเมือง จนกระทั่งผลักดันพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเกิด สปสช. หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมาเป็นกลไกในการจัดการ ทำให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สงวนไม่ได้สนใจแต่จำนวนเท่านั้น แต่ยังสนใจคุณภาพของระบบบริการอีกด้วย ดังที่เคลื่อนไหวผลักดันเรื่อง "มิตรภาพบำบัด" และร่วมเคลื่อนไหวเรื่อง "ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์" สงวนเป็นคนมีน้ำใจ และรับช่วยเหลือในกิจการต่างๆ อยู่เสมอ เช่น เป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้ง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นผู้ยกร่างธรรมนูญจัดตั้งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เป็นผู้ยกร่างธรรมนูญจัดตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เป็นต้น”
ก่อนเสียชีวิต นพ.สงวน ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด และมีอาการทรุดหนักด้วยอาการน้ำท่วมปอดและไตไม่ทำงานหนึ่งสัปดาห์ก่อนเสียชีวิต ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.15 น. ของวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยอายุ 56 ปี
เรื่องราวของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ในชื่อ หมอหงวน...แสงดาวแห่งศรัทธา ออกอากาศวันแรกในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ทางทีวีไทย โดยมี จิรายุส วรรธนะสิน รับบทเป็น นพ.สงวน ร่วมด้วย ร่มฉัตร ขำศิริ และ ทราย เจริญปุระ[3]
ประวัติการศึกษา
พ.ศ.2514-2520 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
พ.ศ.2526 -2527 Master of Public Health สถาบัน Tropical Medicine, Antwerp ประเทศเบลเยี่ยม
พ.ศ. 2528 ประกาศนียบัตร เรื่อง เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สถาบัน London School of Hygiene and Tropical Medicine ประเทศสหราชอาณาจักร
พ.ศ. 2532 หลักสูตรนักบริหารระดับสูง คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
พ.ศ. 2543 หลักสูตรนักบริหารระดับสูง การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย" สถาบันพระปกเกล้า
รางวัลและเกียรติยศดีเด่น
-แพทย์ดีเด่นในชนบท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2528
-Fellow of Royal College of Physician (F.R.C.P) ราชวิทยาลัยแพทย์แห่งกรุง Edinburgh ประเทศสหราชอาณาจักร พ.ศ.2535
-องค์ปาฐกในปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2530
-รางวัล "ทุนสมเด็จพระวันรัต" สำหรับแพทย์ผู้ทำประโยชน์ให้สังคม จากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2544
ที่มา
1. ประเวศ วะสี มติชนรายวัน วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11007
เข้าถึงได้จาก http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q2/2008april29p4.htm
2. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ วิกิพีเดีย เข้าถึงได้จาก
http://th.wikipedia.org/wiki
3. สีสันชีวิต นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แพทย์ชนบทดีเด่น เข้าถึงได้จาก
http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Kid/k154/016.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น