วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

รู้จักอาชีพนักเศรษฐศาสตร์




คำถามที่ได้ยินบ่อยจากนักเรียนคือ คณะเศรษฐศาสตร์เรียนอะไร เรียนแล้วไปทำอะไร ณ ตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบโดยสังเขป ส่วนผู้ที่สนใจก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในเว็บไซดที่อ้างถึงข้างท้าย
วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการตัดสินใจหาหนทางที่เหมาะสมที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจส่วนตัว ของหน่วยงาน และ ของส่วนรวม
งานใดบ้างที่ต้องใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์?
ในครัวเรือน ต้องตัดสินใจเรื่องการเลือกซื้อสินค้าที่เหมาะกับความจำเป็นและรายได้ การซื้อสินค้าผ่อนส่ง การซื้อบ้านที่อยู่อาศัย การซื้อรถยนต์ที่คุ้มค่า การใช้โทรศัพท์มือถือ การประกันชีวิต ประกันอัคคีภัย การออมที่งอกเงยและปลอดภัย การเลือกอาชีพที่เหมาะสมที่สุด การเลือกการพักผ่อนในวันหยุด การเลือกที่เรียนให้ตนเองและบุตรหลาน การใช้บัตรเครดิต ฯลฯ คนจำนวนมากตัดสินใจโดยใช้ราคาเป็นตัวเลือก อย่างที่ทำกันอยู่ ย่อมเป็นวิธีที่ไม่ฉลาด ในธุรกิจ ต้องการทราบต้นทุนรวม ต้นทุนต่อหน่วยสินค้า จุดคุ้มทุน ระยะเวลาคุ้มทุน ค่าเสียโอกาส การสูญเสียในการผลิต จุดรั่วไหล ค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือการผลิต รายได้และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มการผลิต การประมาณอุปสงค์ของลูกค้า ความยั่งยืนของธุรกิจ กำไรที่แท้จริง การเก็บวัตถุดิบที่พอเหมาะพอดี การเก็บเงินสดในปริมาณที่พอเหมาะ สภาพการเปลี่ยนแปลงของคู่แข่งขัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของโลก ฯลฯ ในระดับชาติ ต้องการวางนโยบายเพื่อความเป็นธรรมและความเจริญ จึงมีการตัดสินใจเกี่ยวกับ นโยบายการคลัง (ภาษี และ ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล) การกู้ยืมเงินจากแหล่งใด วิธีใดจึงดีกว่า การกำกับธนาคาร นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายปริมาณเงิน ขอบเขตของการส่งเสริมการลงทุนแก่คนต่างชาติ ค่าเสียโอกาสของประชาชนในส่วนรวม การแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ รัฐวิสาหกิจ รัฐสวัสดิการ การแก้ปัญหาคนว่างงาน ความสูญเสียของการดื่มสุรา ความสูญเสียจากการจราจรติดขัด ความคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าของการผลิตกุ้งกุลาดำและมันสำปะหลังเพื่อส่งขายต่างประเทศ ฯลฯ งานเหล่านี้ต้องการนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้วิเคราะห์และตัดสินใจ อาจต้องทำละเอียดถึงขั้นวิจัย คนในสาขาวิชาอื่นอาจทำได้ แต่ไม่เป็นระบบที่เชื่อถือได้ เพราะไม่สามารถพิจารณาครบระบบ อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ปฏิบัติได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกงานไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตัว ธุรกิจ ส่วนรวม หรือ ระดับชาติ จึงต้องใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์แทบทั้งนั้น หากเรียนรู้เศรษฐศาสตร์ให้จริงจัง ก็ไม่น่าเป็นห่วงว่าจะไม่มีอาชีพ
ลักษณะงานของนักเศรษฐศาสตร์
นักเศรษฐศาสตร์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ในลักษณะต่อไปนี้
• วิเคราะห์แยกแยะหาความจริง (analysis)
• นำเรื่องหรือส่วนย่อยต่างๆมาแสดงให้เห็นเป็นระบบรวม (synthesis)
• ทำการวิจัย (research)
• พยากรณ์ (forecasting) และ
• แนะนำ(advising)ผู้วางนโยบายหรือผู้ปฏิบัติ
ฉะนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงไม่มีปัญหาว่า “ไม่รู้จะทำอะไรดี” เพียงแต่ว่า เมื่อเรียนเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องเรียนให้รู้จริง เพื่อปฏิบัติงานได้จริง หากรู้ไม่จริงก็ทำงานไม่ได้ หรือทำความเสียหายใหญ่หลวงให้แก่ตนเอง และผู้อื่น
งานอาชีพสำหรับนักเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ไหนบ้าง?
นักเศรษฐศาสตร์ สามารถประกอบอาชีพส่วนตัวได้ดี เพราะเข้าใจความต้องการของลูกค้า เข้าใจกลไกการผลิต เข้าใจการคิดต้นทุนที่แท้จริง รู้จักลักษณะตลาด เห็นช่องทางหารายได้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่เชื่อตามกระแส สามารถพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงสามารถประกอบกิจการส่วนตัวได้อย่างดี นักเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่อยากรับผิดชอบกิจการของตัวเอง ก็อาจมีอาชีพเป็นลูกจ้างผู้อื่นได้อย่างกว้างขวาง งานที่มีให้ทำมีมากมาย ได้แก่
งานราชการ :• หน่วยงานราชการต้องการนักเศรษฐศาสตร์ทุกกระทรวง เพื่อวางแผนงาน
วิเคราะห์งาน ประเมินผลงาน และ เป็นอาจารย์ในสายวิชาเศรษฐศาสตร์
งานรัฐวิสาหกิจ :• ต้องการนักเศรษฐศาสตร์ เพื่อทำงานเกี่ยวกับการวางแผนงาน วิเคราะห์งาน ประเมินผลงาน รวมทั้งจัดการกับปัญหาการตลาด วิเคราะห์การผลิต วิเคราะห์ต้นทุน การเตรียมวัสดุคงคลังเพื่อให้พอการผลิตและจำหน่ายโดยประหยัดและไม่เสียงาน
งานโรงงานอุตสาหกรรม และ บริษัท ขนาดใหญ่ งานสถาบันการเงิน •ต้องการนักเศรษฐศาสตร์เพื่อทำหน้าที่อย่างเดียวกับรัฐวิสาหกิจ
ที่มา http://blog.spu.ac.th/FutureCareer/2008/06/10/entry-10
ดูเพิ่มเติม ที่
http://www.jobchiangmai.com/learning/100work/work214.html
http://www.nidambe11.net/person/index.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น